สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้

“แจง” พันธุ์ไม้ที่กำลังถูกลืม

เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ร้อยละเก้าสิบไม่เคยได้ยินชื่อ “ต้นแจง” อย่างแน่นอน ถ้าถามก็คงไม่มีใครรู้จัก แค่ได้ยินชื่อก็แปลกหูกันแล้วใช่ไหมล่ะคะ ปัจจุบันต้นแจงเป็นต้นไม้ที่หายากกำลังจะถูกลืม เพราะคนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าจึงถูกตัดทำลายเพื่อนำพื้นที่ปลูกมาใช้สอยประโยชน์อย่างอื่น แต่หารู้ไม่ว่าต้นแจงนั้นมีสรรพคุณทางสมุนไพรมากมายตั้งแต่รากจนถึงยอดใบ วันนี้เรามาทำความรู้จักต้นแจงกันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ

  “ต้นแจง”  หรือที่ชาวโคราชเรียกกันว่า “ต้นแกง” หรือ “ต้นแก้ง”  ต้นไม้สกุลแจงมีประมาณ 90 ชนิดในโลก แต่ที่อยู่ในประเทศไทยมีอยู่สกุลเดียวซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Maerua siamensis (Kurz) Pax. ถ้าดูตามชื่อวิทยาศาสตร์จะมีคำว่า “ สยาม ” (จากชื่อ siamensis) อยู่ด้วย มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีนรวมทั้งประเทศไทย  สามารถพบได้ในทุกภาคของไทย แต่ในภาคใต้พบเฉพาะทางตอนบน ต้นแจงขึ้นได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าแดง และป่าชายหาดหรือตามป่าโปร่งที่โล่ง 

สรรพคุณของต้นแจงนั้นมีมากมาย คนสมัยก่อนนำใบของต้นแจงมาตำให้ละเอียดแล้วใช้แทนเป็นยาสีฟันดูแลสุภาพฟันป้องกันฟันพุ ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นจึงมีการนำใบแจงมาสกัดเป็นส่วนประกอบหนึ่งในยาสีฟันสมุนไพรซึ่งสารสกัดนั้นมีชื่อเรียกว่า Niebuhria siamensis powder รากปรุงรับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง  แก้กระษัย ปวดเมื่อย ขับปัสสาวะ หรือต้มน้ำดื่มแก้ดีซ่าน หน้ามืด ตาฟาง และไข้จับสั่น ส่วนแก่นของลำต้นช่วยแก้ไข้ตัวร้อน สำหรับหญิงหลังคลอดบุตรสามารถใช้ส่วนเปลือกต้นนำมาเป็นส่วนประกอบของลูกประคบแก้ปวดเมื่อยได้ เห็นไหมคะว่าสรรพคุณของต้นแจงนั้นมีมากมายเหลือล้น ทราบอย่างนี้แล้วเราควรจะช่วยกันอนุรักษ์ไม่ให้พันธุ์ไม้นี้สูญหายไปจากประเทศไทยที่อนาคตข้างหน้าอาจต้องเหลือไว้เพียงชื่อเท่านั้น